WWW.TRAVEL2GUIDE.COM

ศาลเจ้าพ่อหลักเมือง
อยู่ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำสุพรรณบุรี (แม่น้ำท่าจีน) ห่างจากฝั่งแม่น้ำไปตามถนนมาลัยแมน เดิมเป็นศาลไม้ทรงไทยมีเทวรูปพระอิศวรและพระนารายณ์สวมหมวกเติ๊ก(หมวกทรง กระบอก) สลักด้วยหินสีเขียว  ปัจจุบันได้สร้างศาลเป็นรูปวิหารและเก๋งจีน  เจ้าพ่อหลักเมืองนี้เป็นพุทธประติมากรรมสลักบนแผ่นหินแบบนูนต่ำในพุทธศาสนา ลัทธิมหายาน แบบศิลปเขมรอายุราว พ.ศ.1185–1250 หรือประมาณ 1,300-1,400 ปีมาแล้ว มีพระนามว่า พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร หรือที่เรียกกันว่า พระนารายณ์สี่กร เป็นที่สักการะบูชาทั้งชาวไทยและชาวจีน ตามประวัติกล่าวว่า ประมาณ 150 ปีมาแล้วมีผู้พบพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร จมดินจมโคลนอยู่ริมคลองศาลเจ้าพ่อ  จึงได้ช่วยกันอัญเชิญขึ้นข้างบนพร้อมกับสร้างศาลเป็นที่ประทับ  ในคราวเสด็จประพาสต้นเมื่อ พ.ศ. 2447 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเคยเสด็จทรงกระทำพลีกรรมเจ้าพ่อหลัก เมืองและพระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์ก่อเขื่อนรอบเนินศาล ทำชานสำหรับคนบูชา สร้างกำแพงแก้ว ต่อตัวศาลออกมาเป็นเก๋งแบบจีน  สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัติวงศ์กับเจ้าพระยายมราช ทรงสนพระทัยในการปรับปรุงศาลเจ้าพ่อหลักเมืองเมื่อในราว พ.ศ. 2480 ทุกปีในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 7 ของจีน  จะมีพิธีงานประเพณี  “ทิ้งกระจาด” (หรือ พิธีทิ้งทาน) จัดที่สมาคมจีน ซึ่งเป็นพิธีกรรมของพุทธศาสนาลัทธิมหายาน ถือเป็นการจำเริญเมตตาแก่ดวงวิญญาณที่ล่วงลับไปแล้ว โดยนำสิ่งของต่างๆ ที่ผู้ตายใช้สอยและสิ่งของจำเป็นอื่นๆ มาแจกแก่ผู้ยากจน  สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ โทร. 0 3552 1690

วัดป่าเลไลยก์วรวิหาร
ตั้งอยู่ที่ริมถนนมาลัยแมน ตำบลรั้วใหญ่ ทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำสุพรรณบุรี เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดวรวิหาร เป็นวัดเก่าแก่หน้าบันของวิหารวัดป่าเลไลยก์มีเครื่องหมายพระมหามกุฎอยู่ ระหว่างฉัตรคู่ บอกให้ทราบว่าพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จธุดงค์มาพบสมัยยังทรงผนวชอยู่ เมื่อเสด็จขึ้นครองราชย์แล้วจึงทรงมาปฏิสังขรณ์ สันนิษฐานว่าวัดนี้สร้างในสมัยที่เมืองสุพรรณบุรีรุ่งเรือง ในพงศาวดารเหนือกล่าวว่า พระเจ้ากาแตทรงให้มอญน้อยมาบูรณะวัดป่าเลไลยก์ภายหลัง พ.ศ. 1724 ที่วัดแห่งนี้ประชาชนนิยมมานมัสการ “หลวงพ่อโต” ซึ่งประดิษฐานอยู่ในวิหารสูงเด่นเห็นแต่ไกล เป็นพระพุทธรูปปางป่าเลไลยก์ ศิลปะสมัยอู่ทองสุพรรณภูมิมีลักษณะประทับนั่งห้อยพระบาท พระหัตถ์ซ้ายวางคว่ำบนพระชานุ หลวงพ่อโตเป็นที่เคารพนับถือของประชาชนในจังหวัดสุพรรณบุรีและจังหวัดใกล้ เคียง ทุกปีจะมีงานเทศกาลสมโภชและนมัสการหลวงพ่อวัดป่าเลไลยก์ 2 ครั้ง คือ ในวันขึ้น 7-9 ค่ำ เดือน 5 และเดือน 12

วัดพระรูป
ตั้งอยู่ที่ถนนขุนช้าง ริมฝั่งทิศตะวันตกของแม่น้ำท่าจีน ตรงข้ามตลาดสุพรรณบุรี วัดนี้เป็นวัดเก่าแก่มีอายุอยู่ในสมัยอู่ทองตอนปลาย ภายในวัดมีสิ่งที่น่าสนใจ ได้แก่ พระพุทธรูปปางไสยาสน์ ก่ออิฐถือปูน ยาว 13 เมตร สูง 3 เมตร ชาวบ้านเรียกว่า เณรแก้ว พระพักตร์กลมยาวคล้ายผลมะตูม ผินพระพักตร์สู่ทิศตะวันออก สันนิษฐานว่าสร้างในราว พ.ศ. 1800-1893 และถือว่าเป็นพระนอนที่มีพระพักตร์งามที่สุดในประเทศไทย

อีกสิ่ง หนึ่งที่น่าชม ได้แก่ พระพุทธบาทไม้ เป็นโบราณวัตถุที่หาค่าไม่ได้ ศิลปะการแกะสลักงดงามมาก มีขนาดยาว 221.5 เซนติเมตร กว้าง 74 เซนติเมตร หนา 10 เซนติเมตร ทำจากไม้ประดู่แกะสลักทั้ง 2 ด้าน มีเพียงชิ้นเดียวในประเทศไทย เดิมพระพุทธบาทไม้อยู่ที่วัดเขาดิน เมื่อตอนเกิดศึกไทย-พม่า พระภิกษุรูปหนึ่งเกรงจะถูกทำลาย จึงนำล่องลงมาทางน้ำแล้วเอาขึ้นที่วัดพระรูป นอกจากนี้ยังมี เจดีย์อู่ทองและซากเจดีย์สมัยทวารวดี ระฆังสัมฤทธิ์ และธรรมาสน์สังเค็ด (วัตถุที่ถวายแก่สงฆ์ผู้เทศน์หรือผู้ชักบังสุกุลเมื่อเวลาปลงศพ) ฝีมือช่างอยุธยาตอนปลาย และที่นี่ยังเป็นกรุของ “ พระขุนแผน ” อันมีชื่อเสียงอีกด้วย

วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ
อยู่ถนนสมภารคง แยกจากถนนมาลัยแมนไปประมาณ 300 เมตร เขตตำบลรั้วใหญ่ ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำสุพรรณบุรี ในสมัยก่อนเป็นศูนย์กลางของเมืองสุพรรณภูมิ เป็นวัดคู่บ้านคู่เมือง มีอายุไม่ต่ำกว่า 600 ปี ปรางค์องค์ประธานเป็นที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ แต่ถูกลักลอบขุดค้นหาทรัพย์สินจนทรุดโทรมไปมาก กรุในองค์พระปรางค์นี้เป็นต้นกำเนิดพระพิมพ์ผงสุพรรณบุรีที่โด่งดังมาก อันเป็นหนึ่งใน “เบญจภาคี” 5 พระเครื่องยอดนิยม อันได้แก่ พระสมเด็จนางพญาของสมเด็จพระพุทธาจารย์ (โต) วัดระฆังโฆสิตาราม กรุงเทพมหานคร พระผงสุพรรณ จังหวัดสุพรรณ พระสมเด็จนางพญา จังหวัดพิษณุโลก พระทุ่งเศรษฐี จังหวัดกำแพงเพชรและพระรอด จังหวัดลำพูน นักโบราณคดีหลายท่านให้ความเห็นว่า ปรางค์องค์นี้น่าจะเป็นศิลปะการก่อสร้างสมัยอู่ทองสุพรรณภูมิ เพราะจากหลักฐานการก่อสร้างองค์ปรางค์เป็นการก่ออิฐไม่ถือปูน ซึ่งเป็นวิธีการเก่าแก่ก่อนสมัยอยุธยา

วัดแค
เป็นวัดเก่าแก่ที่มีชื่อปรากฏในวรรณคดีเรื่อง “ขุนช้างขุนแผน” อยู่ในอำเภอเมืองสุพรรณบุรี จากวัดพระศรีรัตนมหาธาตุไปทางเหนือประมาณ 2 กิโลเมตร ภายในวัดนี้มีต้นมะขามใหญ่วัดโคนต้นโดยรอบได้ประมาณ 9.50 เมตร อายุประมาณ 1,000 ปี เชื่อกันว่าขุนแผนได้เรียนวิชาเสกใบมะขามให้เป็นตัวต่อตัวแตนจากต้นมะขามต้น นี้กับท่านอาจารย์คงเพื่อใช้เวลาโจมตีข้าศึก ใกล้กับต้นมะขามยักษ์นี้ทางจังหวัดได้สร้างเรือนไทยทรงโบราณเรียกว่า “คุ้มขุนแผน” เพื่อเป็นอุทยานวรรณคดีและเป็นการอนุรักษ์ศิลปด้านวรรณกรรมและประวัติศาสตร์
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เคยเสด็จประพาสวัดแค เมื่อ พ.ศ. 2447 วัดนี้มีโบราณวัตถุที่น่าสนใจ ได้แก่ พระพุทธบาทสี่รอย ทำด้วยทองเหลืองกว้าง 1.40 เมตร ยาว 2.80 เมตร สร้างซ้อนกันไว้ในรอยใหญ่ นอกจากนี้ยังมี พระพุทธรูปปางมารวิชัย ขัดสมาธิราบศิลปรัตนโกสินทร์  จีวรและอังสะเป็นลายดอกพิกุลงดงามมาก  ประดิษฐานอยู่ในวิหารหน้าพระประธาน  สิ่งที่น่าสนใจอื่น ๆ เช่น ระฆังทองเหลือง หม้อต้มกรักทองเหลือง ตู้ใส่หนังสือที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงถวายเมื่อปี พ.ศ. 2412

วัดพระนอน
ตั้งอยู่ตำบลพิหารแดง  เลยวัดหน่อพุทธางกูรไปเล็กน้อย วัดพระนอนนี้อยู่ติดกับแม่น้ำท่าจีน สร้างขึ้นในสมัยรัตนโกสินทร์ ภายในวัดมี  อุทยานมัจฉา อยู่บริเวณริมน้ำหน้าวัด มีปลานานาชนิดชุกชุม ทั้งปลาสวาย ปลาตะเพียน ปลาแรด ทางวัดประกาศเป็นเขตอภัยทาน ปลูกต้นไม้ ทั้งไม้ผลและไม้ประดับ บริเวณวัดจึงร่มรื่นสวยงาม และเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจที่ขึ้นหน้าขึ้นตาแห่งหนึ่งของจังหวัด  และยังมีวิหารประดิษฐานพระพุทธรูปปางไสยาสน์สลักจากหิน มีลักษณะแปลกกว่าที่อื่น  คือ  เป็นพระพุทธรูปอยู่ในลักษณะนอนหงายขนาดเท่าคนโบราณยาวประมาณ 2 เมตร  ลักษณะคล้ายกับพระนอนที่เมืองกุสินารา ประเทศอินเดีย  สถานที่ปรินิพพานของพระพุทธเจ้า  และยังเป็นแหล่งท่องเที่ยวหนึ่งใน Unseen Thailand อีกด้วย

วัดประตูสาร
อยู่ที่ถนนขุนช้าง ตำบลรั้วใหญ่ ภายในเขตเทศบาลเมือง เป็นวัดเก่าแก่วัดหนึ่ง ไม่มีหลักฐานเก่าระบุว่าสร้างเมื่อใด แต่คงจะสร้างขึ้นก่อนปี พ.ศ. 2379 ซึ่งเป็นปีที่สุนทรภู่มาสุพรรณบุรี ภายในพระอุโบสถมีจิตรกรรมฝาผนังเรื่องเกี่ยวกับพุทธประวัติ ฝีมือช่างหลวง เชื่อกันว่า เป็นคนเดียวกับที่เขียนจิตรกรรมฝาผนังวัดหน่อพุทธางกูร เขียนราว พ.ศ. 2391 นอกจากนี้ยังมีจิตรกรรมที่เขียนบนพื้นไม้เป็นแผ่นๆ เรื่องพุทธประวัติและมหาชาติ ลักษณะของภาพเหมือนจะลอกแบบจิตรกรรมฝาผนังภายในอุโบสถ เก็บรักษาอยู่ในวิหาร สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร. 0 3554 3598

วัดไผ่โรงวัว
ตั้งอยู่ที่ตำบลบางตาเถร ห่างจากตัวจังหวัดสุพรรณบุรีประมาณ 43 กิโลเมตร หรือห่างจากกรุงเทพฯ ประมาณ 70 กิโลเมตร ตามเส้นทางสายตลิ่งชัน-สุพรรณบุรี มีทางแยกซ้ายก่อนถึงสามแยกลาดบัวหลวงเข้าสู่วัดไผ่โรงวัว หรือ หากมาตามทางหลวงหมายเลข 3422 กิโลเมตรที่ 18-19 วัดนี้สร้างเมื่อ พ.ศ. 2469 เป็นวัดที่มีพุทธศาสนิกชน และบุคคลทั่วไปนิยมไปเที่ยวชมกันมากเพราะท่านพระครูอุทัยภาคาธร (หลวงพ่อขอม) ได้ดำเนินการก่อสร้าง “พระพุทธโคดม” เป็นพระพุทธรูปโลหะสำริดองค์ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย นอกจากนี้ภายในวัดมีสิ่งก่อสร้างเกี่ยวกับพุทธศาสนาที่สำคัญหลายแห่ง เช่น “สังเวชนียสถาน 4 ตำบล” คือ สถานที่ที่พระพุทธเจ้าประสูติ ตรัสรู้ ปฐมเทศนาและปรินิพพาน มีส่วนที่แสดงงานประติมากรรม เกี่ยวกับพุทธประวัตินรกภูมิ สวรรค์ภูมิ  นอกจากนี้ยังมี  “พระกะกุสันโธ” พระพุทธรูปปูนปั้นขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ด้านหน้าพระพุทธรูปมี  “ฆ้อง และบาตร”  ใหญ่ที่สุดในโลก  และยังมี “พระวิหารร้อยยอด” และ “พระธรรมจักร” หล่อด้วยทองสำริดใหญ่ที่สุดในโลก รวมทั้งสิ่งก่อสร้างอื่นๆ อีกมากมาย เป็นวัดที่โดดเด่นวัดหนึ่งของจังหวัดสุพรรณบุรี

วัดบ้านกร่าง
เป็นวัดเก่าแก่ตั้งแต่สมัยอยุธยา สันนิษฐานว่าน่าจะมีอายุร่วม 400 ปี เป็นวัดที่มีกรุพระขุนแผนบ้านกร่าง เป็นเนื้อดินเผาศิลปะอยุธยา สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นหลังสงครามยุทธหัตถีระหว่างสมเด็จพระนเรศวรมหาราชกับ พระมหาอุปราช เมื่อตอนยกทัพกลับผ่านอำเภอศรีประจันต์ ได้พักทัพริมฝั่งแม่น้ำสุพรรณบุรี ทรงรับสั่งให้ทหารสร้างพระเครื่องซึ่งเล่ากันว่า เป็นจำนวนถึง 84,000 องค์ บรรจุในกรุวัดบ้านกร่าง เพื่ออุทิศส่วนกุศลให้แก่ทหารที่เสียชีวิต พระพิมพ์บ้านกร่างคู่เป็นพระที่มีความหมายมาก ในการสร้างพระครั้งนี้แม่พิมพ์แกะเป็นสององค์คู่กัน โดยสมมติให้เป็นองค์สมเด็จพระนเรศวรมหาราชและสมเด็จพระเอกาทศรถ พระรูปแบบนี้หายากในกรุอื่นๆ ทั่วประเทศไทย